มหาสงกรานต์แห่งนางดานเมืองนคร 2561

17 เม.ย. 2561      635 views

แชร์ทั้งหมด 0 ครั้ง

Facebook share Twitter share Print

วันนี้(14 เมษายน 2561 ) เวลา 18.30 น. จังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดพิธีแห่นางดาน และจัดแสดงสื่อผสมอลังการนางดาน ตำนานเมืองนครฯ 1 เดียวในประเทศไทยขึ้น ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องในวันที่ 14 เมษายนทุกปี โดยเริ่มจากพิธีบวงสรวงพระอิศวร ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ฮินดู เพื่อความเป็นสิริมงคล ณ ฐานพระสยม บริเวณตลาดท่าชี เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จากนั้นได้ตั้งริ้วขบวนพิธีแห่นางดาน ไปตามถนนราชดำเนิน ไปยังสวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช ซึ่งมีการปิดไฟฟ้าส่องสว่างสองฝั่งถนนทั้งหมด แล้วใช้ไฟแสงสว่างจากขี้ไต้ และไฟตะเกียงแทน เมื่อขบวนเดินทางถึงสวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช ได้จัดให้มีพิธีเปิดงาน โดยนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธาน นายพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช กล่าวรายงาน มีนายศิวะ แสงมณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการ ททท.ด้านนโยบายและแผน ประชาชนชาวนครศรีธรรมราช และนักท่องเที่ยว ร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังพิธีเปิดงานได้จัดแสดงแสงเสียงสื่อผสมอลังการนางดานตำนานเมืองนคร 1 เดียวในพระเทศไทย มีการจำลองพิธีแห่นางดาน และการโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา และความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ใช้เวลาในการแสดงประมาณ 1 ชั่วโมง ประเพณีแห่นาง หรือนางกระดาน เป็นประเพณีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวายหรือประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 3 องค์ มารอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จมายังโลกมนุษย์ในช่วงเดือนยี่ของทุกปี เชื่อกันว่าเป็นการประสาทพรให้มีความสุขสบาย คุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัย บันดาลความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพรรณธัญญาหาร เทพที่อัญเชิญรับเสด็จประกอบด้วยพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระแม่คงคา และพระแม่ธรณี เทพดังกล่าวนี้ ได้มีการจารึกหรือแกะสลักลงบนแผ่นไม้ ขนาดกว้างหนึ่งศอกสูงสี่ศอก จำนวน 3 แผ่น แผ่นแรก คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่สองคือแม่พระธรณี แผ่นที่สามคือพระแม่คงคา ชาวนครศรีธรรมราชเรียกไม้แกะสลักดังกล่าวนี้ว่า นางกระดาน หรือนางดาน ซึ่งเมื่อถึงวันพิธีก็เชิญนางกระดานทั้ง 3 นี้ มายังเสาชิงช้าในหอพระอิศวร เพื่อรอรับพระอิศวรที่จะเสด็จเยี่ยมโลกมายังเสาชิงช้าดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันประเพณีแห่งนางดาน ในประเทศไทยมีที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเท่านั้น.. ที่มา : สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช

แหล่งที่มา :